วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

                    


                                                           
                 โครงงานวิทยาศาสตร์


           โครงงานวิทยาศาสตร์ หมายถึง การศึกษาค้นคว้าความรู้ด้วยตนเอง โดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์และทักษะทางวิทยาศาสตร์ภายใต้การแนะนำ ปรึกษา ดูแลของครูหรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่อง นั้น ๆ

                ประเภทโครงงานวิทยาศาสตร์

1. โครงงานประเภทสำรวจ  หมายถึง การสำรวจข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดจากความอยากรู้อยากเห็น เพื่อนำมาประกอบการศึกษาหรือการจำแนกเป็นหมวดหมู่ ทั้งนี้ไม่ต้องคำนึงถึงตัวแปรต่าง ๆ การเก็บข้อมูลโดยการออกไปสำรวจนอกห้องปฏิบัติการหรือที่เรียกว่า สำรวจภาคสนามหรือบางครั้งอาจจะนำส่วนต่าง ๆ นั้นมาศึกษาในห้องปฏิบัติการด้วยก็ได้

2. โครงงานประเภทการทดลอง   หมายถึง โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภททดลองเป็นโครงงานที่มีการออกแบบการทดลองเพื่อศึกษาผลของตัวแปรอิสระที่มีผลต่อตัวแปรตาม โดยควบคุมตัวแปรอื่น ๆ ที่จะมีอิทธิพลต่อผลการทดลอง

                   ตัวอย่างโครงงานประเภทการทดลอง

ตัวอย่างที่ 1 โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง มะขาวเปียก ตะไคร้ ฆ่าเห็บ เหา การศึกษา โดยการทดลองศึกษาผลของนำมะขามเปียก นำตะไคร้ ที่มีผลต่อการฆ่าเห็บ เหา
ตัวอย่างที่ 2  โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องสมุนไพรไล่ยุง การศึกษา โดยการทดสอบนำพืชสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ที่ต้องการศึกษา มาทำยาไล่ยุง

3. โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์  เป็นโครงงานที่ประยุกต์หลักการหรือทฤษฎีต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์ มาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ที่เป็นประโยชน์ในการใช้สอย อาจคิดประดิษฐ์ของใหม่ ๆ หรือปรับปรุงดัดแปลงของเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

                          ตัวอย่างโครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์

ตัวอย่างที่ 1 โครงงานวิทยาศาสตร์ กังหันลม การศึกษา โดยการประดิษฐ์กังหันลมจากลูกปิงปองนำมาทดลองศึกษาการหมุนของกังหันที่มีความยาวแขนต่างกัน
ตัวอย่างที่ 2 โครงการวิทยาศาสตร์เรื่อง ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์การศึกษา โดยการประดิษฐ์ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์อย่างง่ายจากวัสดุในท้องถิ่น แล้วนำมาทดลองหาประสิทธิภาพของตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์

4. โครงงานประเภททฤษฏี  เป็นโครงงานที่เสนอทฤษฏี หลักการใหม่ ตามแนวคิดของตนเอง หรือการอธิบายแนวคิดใหม่ ๆ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของสูตรสมการ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างมีเหตุผล

                                  ตัวอย่างโครงงานประเภททฤษฏี

ตัวอย่างที่ 1 โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องทฤษฎีโลกกลมโลกแบน การศึกษา โดยการทดลองศึกษาโดยอาศัยทฤษฎีเดิมและนำเสนอแนวคิดใหม่ของตนเองโดยยกเหตุผลหรือพิสูจน์แนวความคิดของตนเองว่าน่าเชื่อถือกว่า

                                  ลำดับขั้นตอนการทำโครงงาน

1. สำรวจและตัดสินใจเลือกเรื่องที่จะโครงงาน
2. ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะทำจากเอกสารและแหล่งข้อมูลต่าง ๆ
3. วางแผกนการทดลอง การใช้วัสดุอุปกรณ์และระยะเวลาในการดำเนินงาน
4. เขียนเค้าโครงของโครงงานวิทยาศาสตร์
5. ลงมือศึกษาทดลอง วิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผล
6. เขียนรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์
7. เสนอผลงานของโครงงานวิทยาศาสตร์

                                        
                 ความสำคัญและประโยชน์ของโครงงานวิทยาศาสตร์
ธีระชัย ปูรณโชติ (2531 : 3-4) ได้กล่าวถึงความสำคัญและประโยชน์ของโครงงานวิทยาศาสตร์ ไว้ดังต่อไปนี้

1. ช่วยส่งเสริมจุดมุ่งหมายของหลักสูตรและการเรียนวิทยาศาสตร์ให้สัมฤทธิ์ผลสมบูรณ์ยิ่งขั้น
2. ช่วยให้นักเรียนมีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในกระบวนการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองโดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์
3. ช่วยพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้นกว่าการเรียนในกิจกรรมการเรียนการสอนตามปกติ นักเรียนมีโอกาสได้ฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์บางทักษะซึ่งไม่ใคร่มีโอกาสในกิจกรรมการเรียนการสอนตามปกติ เช่น ทักษะการตั้งสมมติฐาน ทักษะการออกแบบการทดลอง และควบคุมตัวแปร เป็นต้น
4. ช่วยพัฒนาเจตคติทางวิทยาศาสตร์ เจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ และความสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์
5. ช่วยให้นักเรียนเข้าใจลักษณะและธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ดียิ่งขึ้น เช่น เข้าใจว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้หมายถึงแต่ตัวความรู้ในเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับธรรมชาติเท่านั้นแต่ยัง หมายถึงกระบวนการแสวงหาความรู้เหล่านั้น และมีเจตคติหรือค่านิยมทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย การได้มาซึ่งความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติจะต้องใช้กระบวนการแสวงหาความรู้ที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลอย่างมีระบบโดยอาศัยการสังเกตเป็นพื้นฐานแต่ประสาทสัมผัสของมนุษย์ ซึ่งใช้ในการสังเกตมีขีดความสามารถจำกัดในการรับรู้ ดังนั้น วิทยาศาสตร์จึงมีขอบเขตจำกัดด้วย
6. ช่วยพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และความเป็นผู้มีวิจารณญาณ
7. ช่วยพัฒนานักเรียนให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง
8. ช่วยพัฒนานักเรียนให้เป็นคนที่คิดเป็น ทำเป็น และมีความสามารถในการแก้ปัญหา
9. ช่วยพัฒนาความรับผิดชอบ และสร้างวินัยในตนเองให้เกิดขึ้นกับนักเรียน
10. ช่วยให้นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และมีคุณค่า
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2531 : 56) ได้กล่าวถึงคุณประโยชน์ของโครงงานวิทยาศาสตร์ไว้ดังนี้
1. สร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ต่างๆ ด้วยตนเอง
2. เปิดโอกาสให้นักเรียนได้พัฒนาและแสวงหาความสามารถตามศักยภาพของตนเอง
3. เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ศึกษา ค้นคว้าและเรียนรู้ในเรื่องที่ตนเองสนใจได้ลึกซึ้งไป
กว่าการเรียนในหลักสูตรปกติ
4. ทำให้นักเรียนมีความสามารถพิเศษโดยมีโอกาสแสดงความสามารถของตน
5. ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนมีความสนใจในการเรียนวิทยาศาสตร์และมีความสนใจที่จะ
ประกอบอาชีพทางวิทยาศาสตร์
6. ช่วยให้นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในการสร้างสรรค์
7. ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนและระหว่างนักเรียนด้วยกันให้มีโอกาส
ทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น
8. ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับโรงเรียนให้ดีขึ้น โรงเรียนได้มีโอกาสเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ชุมชนซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ชุมชนได้สนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น


         สรุปได้ว่า โครงงานวิทยาศาสตร์มีความสำคัญและก่อประโยชน์โดยตรงแก่นักเรียนโดยตรงเป็นการฝึกให้นักเรียนรู้จักศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง สร้างความสัมพันธ์อันดีกับครูกับเพื่อนร่วมงาน รู้จักทำงานอย่างเป็นระบบใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหาและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์